รูปบทความตัวอย่าง-5

ตลาดอนุพันธ์, การซื้อขายล่วงหน้าและสัญญาใจ !!

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับตลาดทุนบ้านเรา เพราะเป็นวันที่ตลาดอนุพันธ์ได้เปิดทำการซื้อขายอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางกระแสความผันผวนทางการเมืองที่ร้อนระอุไม่แพ้อากาศในยามนี้

ตลาดอนุพันธ์ (Thailand Futures EXchange : TFEX) มีสถานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ใช้ชื่อว่า “บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)” มีฐานะเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายตราสารที่มีมาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาตลาดการซื้อขายอนุพันธ์ ให้มีสภาพคล่อง มีความหลากหลายของสินค้า เพื่อประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในตลาดทุน และเป็นการดำเนินการเพื่อเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

ขึ้นชื่อว่าตลาด ที่ไหน ๆ ก็คงต้องมีสินค้าใช่ไหมครับ ตลาดอนุพันธ์ก็เช่นกัน โดยที่ตลาดแห่งนี้มีสินค้าให้ทำการซื้อขายกันหลัก ๆ อยู่ 3 ประเภทได้แก่ ฟิวเจอร์ (Future), ออปชั่น (Option) และออปชั่นบนสัญญาฟิวเจอร์ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายและลักษณะเฉพาะของแต่ละประเภท ผมคงต้องรบกวนท่านผู้อ่านศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ WWW.TFEX.CO.TH เพราะถ้าผมยกมาอธิบาย ณ ที่นี้ บทความนี้คงมีความยาวมาก และกลายเป็นบทความทางเศรษฐศาสตร์ไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมไม่ใจร้ายขนาดไม่อธิบายอะไรเลยหรอกครับ เพราะในบทความนี้ ผมจะอธิบายลักษณะรวม ๆ ที่น่าสนใจ เพื่อเป็นพื้นฐานต่อท่านผู้อ่าน เผื่อว่าท่านได้อ่านบทความนี้จบ อาจจะมีความสนใจที่จะลงทุนในตลาดอนุพันธ์ก็ได้นะครับ

ลักษณะที่สำคัญของการซื้อขายล่วงหน้า คือ การที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันว่าจะทำการซื้อขายสินค้ากันในวันข้างหน้า (จึงเป็นที่มาของคำว่า ฟิวเจอร์) ในราคาที่กำหนดกันเอาไว้แล้ว เช่น ผมมีเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ 1 ดอลลาร์ ซึ่งขณะนี้มีมูลค่าอยู่ราว ๆ 37 บาทกว่า ๆ และเพื่อนของผมสนใจที่จะซื้อขายเงิน 1 ดอลลาร์นี้กับผม โดยตกลงกันว่าจะซื้อขายกันในอีก 1 เดือนข้างหน้า ในราคาที่กำหนดกันไว้ที่ 1 ดอลลาร์ต่อ 42 บาท ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดเวลาการซื้อขายตามสัญญา เพื่อนของผมก็ต้องซื้อเงินดอลลาร์ในราคา 1 ดอลลาร์ต่อ 42 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ ไม่ว่าในขณะนั้นค่าเงินจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 42 บาทก็ตาม ฉะนั้นถ้าค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น ผมก็จะขาดทุน แต่ถ้าในทางกลับกัน ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ผมก็จะกำไร และเพื่อนของผมก็จะขาดทุน

ในด้านแง่มุมทางกฎหมายแล้ว สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวจะตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 เพราะหากไม่มีกฎหมายนี้มาบังคับใช้ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยถือเป็นสัญญาจะซื้อจะขายชนิดหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันหลายประการกับลักษณะของการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า และบางข้ออาจเป็นบทบัญญัติที่ขัดขวางต่อสภาพคล่องของการดำเนินการพัฒนาตลาดอนุพันธ์

สิ่งที่แตกต่างกับสัญญาจะซื้อจะขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น เรื่องการจ่ายเงินค่าสินค้า การซื้อขายสินค้าล่วงหน้าจะใช้วิธีวางเงินเอาไว้ขณะทำสัญญาที่สำนักหักบัญชี เมื่อถึงกำหนดเวลาตามสัญญา หากผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าตามสัญญาแล้ว ผู้ขายก็จะทำการหักเงินค่าสินค้าผ่านทางบริการของสำนักหักบัญชีของตลาดอนุพันธ์ตามราคาที่ตกลงไว้ในข้อสัญญา และ หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญา ก็จะใช้วิธีไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยคณะกรรมการตลาดอนุพันธ์ หรือส่งเรื่องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งต่างจากข้อพิพาทตามกฎหมายแพ่ง ที่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของคู่สัญญาว่า จะใช้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยวิธีการใด

มีนักลงทุนบางท่านถึงขนาดเปรียบเทียบสัญญาซื้อขายสินค้าล่วงหน้าประหนึ่งดัง “สัญญาใจ” กันเลยทีเดียว เพราะเป็นข้อตกลงล่วงหน้า ซึ่งเราไม่อาจจะทราบได้เลยว่าในเวลาที่เรากำหนดส่งมอบสินค้าและชำระราคากันนั้น ราคาของสินค้าจะอยู่ที่ราคาเท่าไร เป็นเพียงแค่การคาดเดาและคาดหวังล่วงหน้าเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่นิยมนำมาซื้อขายกัน จึงเป็นสิ่งที่มีสภาพคล่องสูง และสามารถจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้อยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นคงไม่จำเป็นที่จะนำมาซื้อขายล่วงหน้ากัน สินค้าเหล่านั้น อาทิเช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้, สินค้าการเกษตร, อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ฯลฯ อย่างไร ก็ตาม สำหรับท่านที่มีความสนใจอยากจะลงทุนในตลาดอนุพันธ์ อย่าเพิ่งใจร้อนนะครับ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรที่จะศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนที่จะลงทุน จะได้ไม่กลายเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟ แล้วเสียทั้งเงิน และเสียทั้งเวลานะครับ

ติดต่อทนายความ กดปุ่มแอดไลน์หรือโทร. 082-4192639

คลิกเพื่อแอดไลน์