รูปบทความตัวอย่าง-3

เรื่องของคนพิการที่นายจ้างควรรู้

เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับ กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อเจ้าของสถานประกอบการทั่วไปและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

และเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยประกาศนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป

ตามสาระสำคัญของกฎกระทรวงดังกล่าว มีผลกระทบต่อนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ดังนี้

๑. นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั่วไปที่มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไปให้รับคนพิการที่สามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใดในอัตราส่วนลูกจ้าง ๑๐๐ คนต่อคนพิการ ๑ คน เศษของลูกจ้าง ๑๐๐ คน หากเกิน ๕๐ คนจะต้องรับคนพิการเพิ่มอีก ๑ คน

๒. การนับจำนวนลูกจ้างจะต้องนับทุกวันที่ ๑ ตุลาคมของแต่ละปี หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประการใด มีสำนักงานสาขาในจังหวัดเดียวกัน ให้นับจำนวนลูกจ้างของทุกสาขาในจังหวัดนั้นเข้าด้วยกัน

๓. หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการผู้ใดไม่รับคนพิการเข้าทำงาน จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคนพิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับหลังสุดในปีก่อนที่มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนดังกล่าว คูณด้วยสามร้อยหกสิบห้า และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน ตัวอย่างเช่น หากนายจ้างรายหนึ่งมีลูกจ้าง ๑๖๐ คน ตามกฎหมายคนพิการนี้ นายจ้างจะต้องรับลูกจ้างคนพิการ ๒ คนเข้าทำงาน หากนายจ้างไม่รับเข้าทำงาน นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ เป็นเงินจำนวน ๓๐๐ คูณด้วย ๓๖๕ คูณด้วย ๒ เท่ากับนายจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ จำนวน ๒๑๙,๐๐๐ บาทต่อปี เป็นต้น

๔. การชำระเงินนั้น นายจ้างสามารถชำระเป็นเงินสด หรือเช็คขีดคร่อม หรือธนาณัติสั่งจ่ายกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยส่งต่อสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของแต่ละปี

๕. นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ล่าช้า หรือส่งเงินไม่ครบถ้วน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นให้เสียอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของจำนวนเงินที่ยังไม่ได้ส่งเข้ากองทุนฯ แต่ไม่มีความรับผิดในทางอาญาแต่อย่างใด

๖. นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการเข้าทำงานมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีโดยสามารถนำเงินที่จ่ายไปเป็นค่าจ้างคนพิการ หรือจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้นั้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

๗. สัญญาจ้างคนพิการนั้น จะต้องมีระยะเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า ๑ ปี

เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้ว ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจ ก่อนว่า คำว่า “คนพิการ” ตามความหมายของกฎหมายนี้เป็นอย่างไร ซึ่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้น นิยามความหมายของคำว่า “คนพิการ” ไว้ว่า “ บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศกำหนด” ซึ่งประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีฯ กำหนดมีรายละเอียด ดังนี้

ข้อ ๑. ให้กำหนดประเภทความพิการ ดังนี้

(๑) ความพิการทางการเห็น

(๒) ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย

(๓) ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย

(๔) ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หรือออทิสติก

(๕) ความพิการทางสติปัญญา

(๖) ความพิการทางการเรียนรู้

ข้อ ๒. หลักเกณฑ์กำหนดความพิการทางการเห็น ได้แก่

(๑) ตาบอด หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการเห็น เมื่อตรวจ วัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้ว อยู่ในระดับแย่กว่า ๓ ส่วน ๖๐ เมตร (๓/๖๐) หรือ ๒๐ ส่วน ๔๐๐ ฟุต (๒๐/๔๐๐) ลงมาจนกระทั่งมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีลานสายตาแคบกว่า ๑๐ องศา

(๒) ตาเห็นเลือนราง หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการเห็นเมื่อตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่า เมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้ว อยู่ในระดับตั้งแต่ ๓ ส่วน ๖๐ เมตร (๓/๖๐) หรือ ๒๐ ส่วน ๔๐๐ ฟุต (๒๐/๔๐๐) ไปจนถึงแย่กว่า ๖ ส่วน ๑๘ เมตร (๖/๑๘) หรือ ๒๐ ส่วน ๗๐ ฟุต (๒๐/๗๐) หรือมีลานสายตาแคบกว่า ๓๐ องศา

ข้อ ๓. หลักเกณฑ์กำหนดความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ได้แก่

(๑) หูหนวก หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการได้ยินจนไม่สามารถรับข้อมูลผ่านทางการได้ยิน เมื่อตรวจการได้ยิน โดยใช้คลื่นความถี่ที่ ๕๐๐ เฮิรตซ์ ๑,๐๐๐ เฮิรตซ์ และ ๒,๐๐๐ เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียง ๙๐ เดซิเบลขึ้นไป

(๒) หูตึง หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการได้ยิน เมื่อตรวจวัดการได้ยิน โดยใช้คลื่นความถี่ที่ ๕๐๐ เฮิรตซ์ ๑,๐๐๐ เฮิรตซ์ และ ๒,๐๐๐ เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียงน้อยกว่า ๙๐ เดซิเบลลงมาจนถึง ๔๐ เดซิเบล

(๓) ความพิการทางการสื่อความหมาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องทางการสื่อความหมาย เช่น พูดไม่ได้ พูดหรือฟังแล้วผู้อื่นไม่เข้าใจ เป็นต้น

ข้อ ๔. หลักเกณฑ์กำหนดความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ได้แก่

(๑) ความพิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องหรือการสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ได้แก่ มือ เท้า แขน ขา อาจมาจากสาเหตุอัมพาต แขน ขา อ่อนแรง แขน ขาขาด หรือภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังจนมีผลกระทบต่อการทำงานมือ เท้า แขน ขา

(๒) ความพิการทางร่างกาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องหรือความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า ลำตัว และภาพลักษณ์ภายนอกของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ข้อ ๕. หลักเกณฑ์กำหนดความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หรือออทิสติก ได้แก่

(๑) ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้ อารมณ์ หรือความคิด

(๒) ความพิการออทิสติก หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรม

ในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษาและการสื่อความหมาย พฤติกรรมและอารมณ์ โดยมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมอง และความผิดปกตินั้นแสดงก่อนอายุ ๒ ปีครึ่ง ทั้งนี้ ให้รวมถึงการวินิจฉัยกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมอื่น ๆ เช่น แอสเปอเกอร์ (Asperger)

ข้อ ๖. หลักเกณฑ์กำหนดความพิการทางสติปัญญา ได้แก่ การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ หรือมีระดับเชาว์ปัญญาต่ำกว่าบุคคลทั่วไป โดยความผิดปกตินั้นแสดงก่อนอายุ ๑๘ ปี

ข้อ ๗. หลักเกณฑ์กำหนดความพิการทางการเรียนรู้ ได้แก่ การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมโดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องทางสมอง ทำให้เกิดความบกพร่องในด้านการอ่านการเขียน การคิดคำนวณ หรือกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานอื่นในระดับความสามารถที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามช่วงอายุและระดับสติปัญญา

เมื่อเข้าใจว่า อะไรคือคนพิการแล้ว ก็ถึงคราวที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไป จะต้องตัดสินใจว่า จะเลือกวิธีว่าจ้างคนพิการเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้าง หรือเลือกที่จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการดี เพราะหากพิจารณาจากจำนวนเงินแล้วเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลย แต่ถ้านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเลือกว่าจ้างคนพิการเข้ามาทำงานแล้ว น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ เนื่องจากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะได้ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการโดยให้คนพิการมีงานทำแล้วยังจะได้ได้แรงงานจากคนพิการมาใช้ในการประกอบธุรกิจ และยังถือว่าเป็นการทำบุญกุศลอีกด้วย

ที่มา ธรรมนิติ

ติดต่อทนายความ กดปุ่มแอดไลน์หรือโทร. 082-4192639

คลิกเพื่อแอดไลน์